โลกร้อนขึ้น จนเด็กๆ ลุกขึ้น เปล่งเสียงเล็กๆ เรื่อง Climate Change
เมื่อเด็กตระหนักว่า ตอนนี้โลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ เป็นโลกใบร้อนๆ ที่กำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เสียงเล็กๆ จึงถูกเปล่งขึ้นเพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในวงกว้าง ว่า Climate Change เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน เกรียตา ทุนแบร์ย เริ่มสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่อายุ 9 ขวบ จากการที่ได้ฟังครูอธิบายเรื่องการ ประหยัดพลังงานและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ผลักดันให้เธอลุกขึ้นมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ และเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 24 หรือ COP24 ที่ประเทศโปแลนด์ในวัย 15 ปี สุนทรพจน์ในครั้งนั้น สะท้อนจากมุมมองของเธอถึงสิ่งที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ให้เด็กรุ่นหลัง การทำลายพื้นผิวและบรรยากาศโลกเพื่อแลกกับจำนวนเงินมหาศาลของคนมีอำนาจ และส่งสารบอกผู้นำโลกให้รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้นจากอำนาจของประชาชน
ซึ่งสุนทรพจน์เพียง 3 นาทีนี้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ปลุกพลังให้เยาวชนทั่วโลกลุกขึ้นมารณรงค์อย่างจริงจัง ด้วยการเดินขบวนในวันศุกร์กระตุ้นให้ผู้คนหันมาใส่ใจกับปัญหาโลกร้อน ภายใต้แนวคิด Fridays for Future เธอได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2019 และได้ขึ้นปกพร้อมคำโปรยว่า “ THE POWER OF YOUTH ” เป็นพลังเยาวชนที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องในประเด็นใหญ่หลวงที่โลกกำลังเผชิญอยู่และจุดยืนที่เธอย้ำอย่างหนักแน่นคือ หาก ไม่ฟังเสียงเด็กก็ไม่เป็นไร แต่ให้ฟังวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ แล้วลงมือแก้ปัญหา
credit : https://www.bbc.com/thai/international-50748093
ปัจจุบันเกรียตา ทุนแบร์ย อายุ 19 ปี และยังคงเคลื่อนไหวเต็มพลังเสียงเพื่อรณรงค์เรื่องความยั่งยืนของธรรมชาติในกิจกรรมสำคัญต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง โดยเธอ เชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ การสร้างจุดเริ่มต้นปลุกพลังให้เด็กๆ กล้าคิด กล้าทำ หรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลโลกใบนี้ อาจจะมาจากเรื่องราว วิทยาศาสตร์ในชั้นเรียน เรื่องเล่าจากพ่อแม่แนวคิดจากบุคคลสำคัญ หรือนิทานสักเล่มในบริบทใกล้ตัวที่พวกเขาสามารถ เข้าใจได้ง่ายว่าทำไมพวกเขาและทุกๆ คนรอบตัว จึงมีส่วนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กเรียนรู้และ มองเห็นสายสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับธรรมชาติแล้ว ก็จะค่อยๆ พัฒนาไปสู่การลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ตามแต่ละช่วงวัย จิตใจที่ได้รับการปลูกฝังให้เห็นความสำคัญของธรรมชาตินั้น จะหยั่งรากลึกติดตัวพวกเขาไปจนโต และส่งผ่านไปยังเด็ก รุ่นต่อรุ่น