หน้าต่างแห่งการเรียนรู้

เรื่องราวที่พูดคุยกันในแวดวงจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นด้วยความเป็นห่วงคือ ทัศนคติและค่านิยมของคุณพ่อคุณแม่ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนพิเศษและการกวดวิชาของลูกๆกันอย่างเข้มข้น ทั้งนี้เพื่อให้การสอบและประเมินผลผ่านไปด้วยดี วิถีชีวิตเช่นนี้คุณหมอมองว่าอาจช่วยให้ผลคะแนนดีขึ้น แต่เป็นการปิดกั้นโอกาสแห่งการเรียนรู้สร้างด้านอื่นๆตามธรรมชาติของวัยเด็ก ด้วยการตีกรอบพื้นที่ให้แคบลงเพียงแค่ห้องสี่เหลี่ยม

ศาสตราจารย์ ดร.โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เสนอ ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ว่าสติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นกับใครมีความโดดเด่นด้านไหนและแต่ละด้านมีความผสมผสานกันอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน ประกอบด้วยด้านภาษา (Linguist Intelligence) คือความฉลาดในการฟัง การพูด การใช้ภาษารูปแบบต่างๆ

  1. ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) คือความฉลาดในการคิดแบบมีเหตุผลและการคิดคำนวณทางวิทยาศาสตร์

  2. ด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence) คือความฉลาดในการรับรู้ทางสายตา รูปทรง ระยะทาง ทิศทาง และตำแหน่งอย่างเชื่อมโยงกัน

  3. ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily-Kinesthetic Intelligence) คือความสามารถในการใช้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น และความประณีต

  4. ด้านดนตรี (Musical Intelligence) คือความสามารถในการซึมซับและเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี

  5. ด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) คือความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจผู้อื่น ทั้งความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์

  6. ด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) คือความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง และแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ

  7. ด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalistic Intelligence) คือความฉลาดในการเรียนรู้สิ่งต่างๆของธรรมชาติรอบตัว ทั้งสัตว์ พืช สิ่งแวดล้อม

เทคนิคแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่

  1. ท่านต้องเป็นแบบอย่างอันดีงามของลูกในการเรียนรู้ ค้นหาจุดอ่อน จุดแข็งหรือความสามารถพิเศษเฉพาะด้านที่ลูกมี เช่น ภาษา การสื่อสาร วิทยาศาสตร์ ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อวิเคราะห์ว่าลูกของเรามีทักษะด้านใดโดดเด่นบ้าง

  2. คุณพ่อ คุณแม่ ควรคาดหวังกับลูกตามความจริง ยอมรับความสามารถอย่างที่เขาเป็น มีความยืดหยุ่น และสร้างแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ให้เกิดขึ้น

  3. ฝึกฝนให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น การอ่านหนังสือนิทาน ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หนังสือการ์ตูน หรือ วรรณกรรม เพราะการอ่านคือรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ คุณหมอพบว่าเด็กๆจำนวนมากไม่ชอบอ่านหนังสือ ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ จนกระทั่งเด็กรักการอ่านแล้วต่อไปก็จะเลือกอ่านหนังสือดีๆมาอ่านเอง

  4. หาพื้นที่ปลอดภัย (Safety area) ให้เด็กได้เล่นอย่างมีความสุข เพราะกล้ามเนื้อมือประสานสายตาและกำลังแขนขาของเด็กมีความแข็งแรงมากขึ้น เช่น วิ่งเล่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ รวมทั้งการเล่นกีฬา การเล่นด้วยกันเป็นกลุ่มส่งเสริมให้เด็กมีการปรับตัวและสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น หรือเพลิดเพลินกับการเล่นในบ้าน เช่น วาดภาพ ระบายสี ต่อภาพจิ๊กซอว์ เลโก้

  5. ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว เช่นช่วยกันทำอาหาร ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ จัดบ้านให้เรียบร้อย นอกจากเป็นถักทอความรักความผูกพันในครอบครัว ยังเป็นการฝึกฝนให้เด็กรู้จัก คิดวางแผน แก้ปัญหา สังเกต ตลอดจนแสดงความมีน้ำใจ เสียสละ อดทน ขยัน และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา การฝึกทักษะเหล่านี้ขอให้ท่านเริ่มต้นจากจากงานที่ทำได้ง่ายไปยาก

  6. ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในใจลูก ให้รู้จักการเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ มีความเมตตา โอบอ้อมอารี อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ อันเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยที่เราทุกคนภาคภูมิใจ ด้วยการพาเด็กไปวัด ทำบุญ ตักบาตร เยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์หรือจิตอาสา

  7.  หากท่านเป็นคนเมืองลองพาลูกๆไปสัมผัสวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูบ้าง เช่น บ้านเมือง วิถีชีวิตของผู้คน ประเพณี วัฒนธรรม เพื่อสั่งสมประสบการณ์อันล้ำค่าเพราะการเปิดประเทศสู่ประชาคมอาเซียนและโลกยุคไร้พรมแดน (Globalization) เด็กควรเรียนรู้และปรับตัวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยยังคงตระหนักถึงคุณค่าและแก่นสารของความเป็นไทย

ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของศาสตราจารย์ ดร.โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ น่าจะเปิดมุมมองให้คุณพ่อคุณแม่ค้นหาคุณค่าแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆในหลายมิติ เฉกเช่น สายรุ้งอันหลากสี เพื่อเติมเต็มและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ให้สมบูรณ์มากขึ้น การพัฒนาเด็กให้มีความรักความเข้าใจตนเอง และมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นช่วยให้พวกเขาเติบโตในโลกบุบๆ เบี้ยวๆ ใบนี้อย่างมีความสุข

Visitors: 950,407