เรากำลังสร้าง “โลกอคติของอัลกอริทึม” อยู่หรือไม่

ในขณะที่เราทำความรู้จักสิ่งต่าง ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต

อัลกอริทึม ก็กำลังทำความรู้จักเราเช่นกัน

แล้วอัลกอริทึมคืออะไร

สิ่งนี้ทำความรู้จักเราได้อย่างไร

ตอนที่ 1 ฉันอยู่มานานนับพันปี


อัลกอริทึม (Algorithm) ไม่ใช่คำใหม่ แต่มีที่มาจากชื่อของอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ชาวเปอร์เซียในศตวรรษที่ 9 คือ อะบู อับดิลลาห์ มูฮัมหมัด อิบน์ มูซา อัลคอวาริซมีย์ (Abu Abdillah Muhammad ibn Musa al-Khawarizmi) เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับตัวเลขและการคำนวณเลขฐานสิบ ซึ่งเป็นที่มาของระบบตัวเลขฮินดู-อารบิกที่ใช้กันทั่วโลก หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาละติน ชื่อว่า “Algoritmi de numero Indorum” ซึ่งคำว่า Algoritmiก็คือชื่อทับศัพท์ในภาษาละตินของอัลคอวาริซมีย์ จนแผลงมาเป็นคำว่า Algorithmและได้ถูกนำมาใช้เรียกวิธีคำนวณและแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน อัลกอริทึม คือ ลำดับการกระทำที่ต้องทำตามเพื่อแก้ปัญหา มีอยู่ทุกที่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว ทำอาหาร ประกอบเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่การปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อโควิด-19 สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการทำตามอัลกอริทึมทั้งสิ้น และถ้าอยากให้คอมพิวเตอร์ทำตามอัลกอริทึมบ้าง ก็จะต้องเขียนอัลกอริทึมขึ้นด้วย Code หรือภาษาที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ  ซึ่งมีทั้งภาษาที่มนุษย์อ่านออก โดยส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาที่มนุษย์อ่านไม่ออกเพราะ Code บางส่วนไม่สามารถอ่านให้เข้าใจได้

ดังนั้นคำว่า Coding ที่เรามักจะได้ยิน ก็คือการเขียนอัลกอริทึมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ เพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำตามไปทีละขั้น ให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่นอนชัดเจนนั่นเอง

 

ตอนที่ 2 ฉันเดาใจเธอถูกไหม


ความสามารถของอัลกอริทึม นอกจากจะสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำตามได้อย่างแม่นยำแล้ว มันยังสามารถทำความรู้จักเรา ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับอินเทอร์เน็ตอีกด้วยทุกครั้งที่เราเช็กอีเมล ค้นหาข้อมูล เล่นโซเชียลมีเดีย ดูวิดีโอออนไลน์ หรือดูหนังบนสตรีมมิ่ง อัลกอริทึมจะเริ่มศึกษาพฤติกรรมของเราว่า เราชอบหรือคิดอะไรอยู่ 

จากนั้นมันจะประมวลผลและทดสอบสถานการณ์ที่เป็นไปได้จำนวนมาก จนสามารถเลือกได้ว่าสิ่งไหนที่ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด แล้วจึงหยิบสิ่งนั้นขึ้นมาป้อนให้กับเรา เช่น วิดีโอลำดับถัดไปใน YouTube, โพสต์หน้าแรกใน Facebook, ทวีตบนสุดใน Twitter, วิดีโอหน้าฟีดใน TikTok หรือรายการหนังแนะนำใน Netflix สิ่งที่เราไม่ได้เลือกเองเหล่านี้ ล้วนมาจากการตัดสินใจเลือกให้ของอัลกอริทึมทั้งสิ้น และเมื่อเราตอบรับการเลือกของมัน มันก็จะทำความรู้จักเรามากขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ 

และยิ่งได้รับข้อมูลมากขึ้นเท่าไร อัลกอริทึมก็จะยิ่งมีความละเอียดซับซ้อน สามารถตัดสินใจ หรือทำนายแนวโน้มต่าง ๆ เกี่ยวกับความสนใจของเราได้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น มีมุกตลกร้ายเกี่ยวกับการทำนายแนวโน้มของอัลกอรึทึมในหนังเรื่อง Don’t Look Up (2021) ที่สตรีมทาง Netflix ซึ่งเป็นเรื่องราวของการค้นพบดาวหางมฤตยูที่กำลังจะพุ่งชนโลกในอีกหกเดือนข้างหน้า ในหนังเรื่องนี้ มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ชื่อว่า BASH Cellular อัลกอริทึมของ BASH สามารถทำนายได้ว่าผู้คนจะตายอย่างไร และมันทำนายประธานาธิบดีหญิงในเรื่องไว้ว่า จะตายเพราะถูกบรอนทาร็อคกิน 

ซึ่ง ณ เวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าหมายถึงอะไร จนกระทั่งตอนจบของหนัง จึงเฉลยด้วยพฤติกรรมเด่นชัดในตัวบุคคลย้ำสิ่งที่ประธานาธิบดีมีมาโดยตลอด ซึ่งนำไปสู่การทำนายของอัลกอริทึมเช่นนั้น

ตอนที่ 3 ฉันก็มีอคติ


แม้ว่าข้อมูลจากพฤติกรรมของบุคคล สามารถทำให้อัลกอริทึมประมวลผลตัดสินใจได้ด้วยตนเอง หรือทำนายแนวโน้มต่างๆ ได้ แต่ข้อมูลเหล่านั้นก็อาจจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า อคติ ให้กับอัลกอริทึมได้เช่นกัน ยกตัวอย่างแบบง่าย สมมติว่าคนๆ เดียว รีวิวเมนูกะเพราไก่ไข่ดาวซ้ำๆ แล้วคนเกินครึ่งในสังคมก็ช่วยกันโพสต์ ค้นหา หรือสั่งอาหารออนไลน์เฉพาะเมนูนี้ซ้ำๆ ไปอีกเรื่อยๆ อัลกอริทึมก็จะคิดว่า อาหารของมนุษยมีเพียงกะเพราไก่ไข่ดาวเท่านั้น แล้วมันก็จะเสนอข้อมูลของอาหารประเภทนี้ซ้ำๆ ป้อนกลับมาให้กับสังคม เปรียบได้กับเรื่องอื่นๆ เช่น แนวคิด การเมือง สีผิว เพศ ศาสนา หรือเรื่องค่านิยม การป้อนเฉพาะข้อมูลที่สนับสนุนความคิดเดิมๆ ของตนเอง จะทำให้อัลกอริทธึมได้รับข้อมูลที่เต็มไปด้วยอคติและไม่สมบูรณ์

การสร้างอคติให้กับอัลกอริทึมนี้ เกิดขึ้นได้กับอัลกอริทึมทุกแบบไม่ว่าจะเป็นอัลกอริทึมประมวลผลข้อมูล ค้นหา หรือจัดเรียงลำดับ เพราะอัลกอริทึมมีหลักการทำงานพื้นฐานที่เหมือนกันคือ มีข้อมูลเข้า > ผ่านคำสั่ง > ผลลัพธ์ที่ออกมา และสังคมก็คือผู้ควบคุมอัลกอริทึมเหล่านั้น เพราะเป็นผู้ส่งข้อมูลอันมหาศาลป้อนเข้าสู่อัลกอริทึม

ปัจจุบันอัลกอริทึมสำคัญๆ ถูกนำมาใช้ในการดูแลสังคม เช่น ระบบยุติธรรมทางอาญา, การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน, การทำนายอัตราการทำผิดซ้ำ, การตรวจสอบเครดิตทางการเงิน หรือแม้แต่การตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ของเหล่ามิจฉาชีพ ซึ่งอัลกอริทึมเหล่านี้และอีกมากมายในอนาคต จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์ มิใช่แค่อำนวยความสะดวกสบายผ่านโลกออนไลน์เพียงเท่านั้น และผู้คนในสังคมก็คือผู้ที่จะช่วยสร้างทิศทางของอัลกอริทึมได้

เราจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าอัลกอริทึมถูกพัฒนามาอย่างไร และเรามีส่วนแค่ไหนในการสร้างอัลกอริทึมเหล่านั้น หรือข้อมูลที่เราได้รับผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นข้อมูลที่มีด้านเดียว เจือปนไปด้วยอคติหรือไม่ และมันกำลังกรอบความคิดเราไปในทิศทางใด เป็นการกระตุ้นเตือนให้เราระลึกถึงความรับผิดชอบที่เราอาจจะมีส่วนร่วมอยู่เสมอทั้งในฐานะผู้สร้างและผู้ใช้ เราจะได้รู้ทัน มองเห็นปัญหา ปรับสมดุล ป้อนข้อมูลที่ถูกต้อง เปิดรับมุมมองที่แตกต่างและเรื่องราวใหม่ๆ รวมถึงรู้จักปฏิเสธสิ่งที่ย้ำแนวคิดเดิมของตนเองบ้าง เพื่อให้อัลกอริทึมเรียนรู้ว่า มนุษย์ต้องการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายต่างมิติเพื่อประกอบการคิด ตัดสินใจ ตามหลักเหตุผลและความถูกต้อง ป้องกันการสร้างโลกอคติของอัลกอริทึมที่อาจจะเด้งกลับมาครอบตัวเราเองและสังคมไว้ในนั้น

 

Books we recommend


นิทานยุคดิจิทัล

  • รวมนิทานชุด Coding นิทานส่งเสริมทักษะยุคดิจิทัล
    THB 628.15
    THB 739.00  (-15%)
  • ครอบครัวใหญ่ในป่าพัลวัน
    THB 62.10
    THB 69.00  (-10%)
  • Best Seller
    บ้านซอยแปดแฝดจอมป่วน
    THB 62.10
    THB 69.00  (-10%)
  • Best Seller
    ขอทำแบบนั้นซ้ำบ้างได้ไหม
    THB 62.10
    THB 69.00  (-10%)
  • ชุด I get Coding Unplugged Coding
    THB 199.00
    THB 266.00  (-25%)
  • ขอให้มีสี่เหลี่ยมทุกที่ได้ไหม
    THB 62.10
    THB 69.00  (-10%)
  • ขอเป็นคนสั่งบ้างได้ไหม
    THB 62.10
    THB 69.00  (-10%)
  • ร้านสารพัดสิ่งของลุงยุ่ง
    THB 62.10
    THB 69.00  (-10%)
  • Best Seller
    โอ๋โอ๋... ทึดทือ
    THB 62.10
    THB 69.00  (-10%)
Visitors: 937,958