THB 71.25
THB 95.00
ในช่วงวัยอนุบาล คือ ช่วงวัยที่เต็มไปด้วยจินตนาการ และความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ เด็กจะเริ่มมีสังคมที่กว้างขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น เพราะเริ่มก้าวจากสังคมเล็กๆ ภายในบ้าน ออกไปสู่สังคมที่กว้างใหญ่มากขึ้น ก็คือ โรงเรียนนั่นเอง ที่สำคัญในวัยนี้ยังเป็นวัยที่ชื่นชอบการฟังนิทาน หรือเรื่องเล่าต่างๆ ที่เต็มไปด้วยจินตนาการอีกด้วย
ในวัยนี้เด็กแต่ละคนจะเริ่มมีความชอบที่แตกต่างกัน เริ่มมีบุคคลิก และลักษณะนิสัยที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นหนังสือที่เหมาะสม จึงควรเป็นนิทานภาพที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัว ที่เด็กสามารถเชื่อมโยงตนเองกับตัวละครได้ อาจะเป็นเรื่องราวของคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ที่เด็กๆ คุ้นเคย เน้นภาพที่สวยงามสดใส เนื้อหาเข้าใจง่าย และไม่ยาวเกินไป เพื่อให้เด็กๆ สามารถทำความเข้าใจ และติดตามเรื่องราวได้จนจบ
ในวัยนี้เด็กจะเริ่มมีจินตนาการสร้างสรรค์ อยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวที่หลากหลายมากขึ้น เด็กอาจจะไม่ได้สนใจแค่เรื่องในบ้าน หรือในโรงเรียนแล้ว แต่พวกเขาอาจสนใจในเรื่องราวของอวกาศ สัตว์ดึกดำบรรพ์ หรือสิ่งที่ไกลตัวออกไป อีกทั้งในวัยนี้จะเริ่มเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้ในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ และการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมมากขึ้น ดังนั้นการเลือกนิทานให้เหมาะสมกับช่วงวัยนี้ อาจะเป็นนิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการค้นคว้า ค้นหาสิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจ หรือเป็นนิทานที่สอนให้เด็กเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์ และการใช้ชีวิตในสังคม โดยนิทานอาจมีเนื้อหาที่ยาวขึ้น แต่เข้าใจง่าย อาจเป็นเรื่องจินตนาการบ้าง แต่ยังอิงความจริงในบางช่วงอยู่ เนื้อเรื่องสนุกสนานน่าติดตาม มีภาพประกอบที่มีสีสันสดใสสวยงาม มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องไม่มากเกินไป ใช้ภาษาง่ายๆ ที่เด็กสามารถอ่านตามได้
การเลือกนิทานที่เหมาะสมกับช่วงวัยและการเรียนรู้ของเด็กนั้น จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการฟังและการพูด รวมทั้งยังเป็นการฝึกสมาธิให้เด็กได้รู้จักสำรวจและจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟังในแต่ละหน้า ซึ่งทักษะทั้งหลายเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การเตรียมความพร้อมเรียนรู้ในเรื่องต่างๆต่อไป
นอกจากการเลือกนิทานที่เหมาะสมกับช่วงวัย และความสนใจของเด็กแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครอง และคุณครูควรทราบก็คือ การเล่านิทานให้เด็กเล็ก หรือเด็กในวัยอนุบาลฟังนั้น นอกจากเนื้อหาที่สนุกสนาน ชวนติดตามแล้ว เทคนิคการเล่าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจ
ในการเล่านิทานแต่ละเล่มนั้นคุณครู หรือพ่อแม่ อาจต้องใช้วิธีในการเล่าที่แตกต่างกันไป เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ ติดตามฟังเนื้อเรื่องจนจบ ในบางเรื่องอาจเป็นการเล่าปากเปล่า บอกเล่าเรื่องราวด้วยการเน้นน้ำเสียงและท่าทางที่น่าสนใจ หรือในบางเรื่องอาจเป็นการเล่าแบบการใช้อุปกรณ์ เช่น หุ่นมือ หุ่นนิ้ว ตุ๊กตา หรืออุปกรณ์รอบตัวที่มีอยู่ในบ้าน หรือเล่าแบบการใช้กิจกรรม เช่น การเล่าไปวาดรุปไป หรือเล่าไปพับกระดาษไป ก็จะช่วยเสริมเรื่องราวให้นิทานมีความสนุกสนานและน่าสนใจขึ้นได้
การฟังนิทานนั้นเปรียบเสมือนการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็ก เด็กจะได้เรียนรู้ทั้งทักษะการฟัง ทักษะทางภาษา ทักษะชีวิต ภาพและตัวหนังสือที่ปรากฏอยู่บนหนังสือนิทานนั้น จะส่งผลต่อพัฒนาการการรับรู้ของเด็ก โดยเริ่มเรียนรู้ความหมายไปทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถเชื่อมโยงภาพ ตลอดจนจดจำเนื้อหาและเรื่องราวต่างๆ ที่นำไปสู่การอ่านตัวหนังสือได้ และเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตเพื่อนำไปใช้ในอนาคต